ไก่ชนพม่า กับ ไก่ชนไทย สองสายพันธ์นักสู้ที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานนับร้อยๆ ปี สงครามไก่ชน ไทย-พม่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อโยธยา แพ้สงครามให้แก่หงสาวดี
เริ่มต้นขึ้นเมื้อครั้งอโยธยา - รบกับหงสาวดี (ในสมัยก่อนยังเป็นสงครามระหว่างอาณาจักร์ หรือ กษัตริย์กับกษัตริย์ ยังไม่ถูกแบ่งเป็นพม่าหรือไทย ) จนเมื่อครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 กรุงศรีอยุทธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอู โดยการนำของพระเจ้าบุเรงนองนำกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาสำเร็จ และจากนั้นได้แต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลกหลังยอมแพ้ ต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชของหงสาวดีและไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แล้วให้พระธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีในปี พ.ศ. 2107 พร้อมกับคนไทยถูกกวาดต้อนนำกลับไปที่หงสาวดี เป็นจำนวนมาก
"ไก่ชนเหลืองหางขาว" ประกาศศักดิ์ดาที่หงสาวดี
เมื่อครั้ง พ.ศ. 2121 สมเด็จพระนเรศวร มีชันษา 23 ปี ได้นำ "ไก่ชนเหลืองหางขาว" (ไก่เชลย) ชนกับไก่ชนของมังชัยสิงห์ ราชนัดดา (พระมหาอุปราชา) ขณะที่ไก่ของสมเด็จพระนเรศวรกับไก่ชนของพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี กำลังชนกันอย่างดุเดือด ต่างตัวต่างเข้าจิกตี ฟาดแข้ง แทงเดือยอย่างไม่ลดละ พัวพันกันอยู่พักหนึ่ง พร้อมเสียงเชียร์กันกึกก้อง ไก่ชนของพระมหาอุปราชก็ล้มชักไปต่อหน้าต่อตาพระมหาอุปราชถึงกับสะอึก สะกดพระทัยไว้ไม่ได้ มังชัยสิงห์จึงขัดเคืองตรัสประชดประชันหยามหยัน สมเด็จพระนเรศวรว่า"ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ" สมเด็จพระนเรศวรสวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่าง วันนี้เลย ตีพนันบ้านเมืองกันก็ยังได้”
จุดเริ่มต้นของสายพันธ์ "ไก่ชนเหลืองหางขาว"
ในบันทึกพงศาวดารกล่าวถึงกีฬาไก่ชนเป็นที่นิยมอย่างมากในหงษสาวดี โดยเฉพาะในราชสำนักถือว่ากีฬาไก่ชน เป็นกีฬาในวังของชนชั้นสูง เชื้อพระวงศ์จึงนิยมเลี้ยงไก่ชนกันทุกตำหนัก คนไทยในสมัยนั้นก็จึงนิยมเลี้ยงไก่ชนเช่นกัน จากคำบอกกล่าวเล่าต่อกันมา เชื่อว่าไก่ชนที่พระนเรศวรทรงนำไปชนกับไก่ชนของมังชัยสิงห์ ราชนัดดานั้น สันนิษฐานว่านำไปจากบ้านกร่าง เดิมเรียกว่าบ้านหัวเท ซึ้งอยู่ห่างจากเมืองพิษณุโลก ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไทยโบราณ ผู้คนในหมู่บ้านยังสืบทอดขนบธรรมเนียบโบราณ เมื่อมีงานเทศการก็จะนัดชนไก่กัน นับแต่นั้นมาไก่ชนเหลืองหางขาวก็ได้รับความนิยมในหมู่ผู้เลี้ยงไก่ชนไทยมานานหลายปี ด้วยลักษณะที่สวยงามไก่ชนเหลืองหางขาว จึงถูกเลี้ยงไว้ประดับบารมี และประกวดมากกว่าที่จะเลี้ยงออกชน
ไก่ชนพม่าบนแผ่นดินไทย
การเข้ามาของไก่ชนพม่าในเมืองไทย คนพม่ากับคนไทยตามแนวเขตชายแดน มักไปมาหาสู่กันฉันมิตรพี่น้องประเทศเพื่อนบ้าน มีการแลกเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้ หรือค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ไก่ชนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีการนำเข้ามาจากพม่า ตามแนวชายขอบทางภาคเหนือของไทย ในยุคแรกไก่พม่ายังไม่ได้รับความนิยมเลี้ยงมากนัก เนื่องจากมีความเปลียวตามลักษณะนิสัยไก่ป่า ตัวเล็กไม่ค่อยเชื่อง ขี้ตกใจง่าย แต่ข้อดีคือมีเชิงชนที่สวยงาม แข้งคม จนเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเขตทางภาคเหนือตอนบน และเริ่มมีการพัฒนาไก่ชนพม่าเพื่ออกชน กันอย่างแพร่หลายเรื่อยมา โดยเฉพาะไก่พม่าแม่สะเรียง
ไก่พม่าแม่สะเรียง ความดังในยุคเริ่มต้น
อำเภอแม่สะเรียง เป็นอำเภอชายแดนที่ติดกับพม่า 1 ใน 7 อำเภอ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ชายแดนทางทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นเมืองภูเขา ติดกับรัฐกะเหรี่ยงของประเทศพม่า ไก่พม่าแม่สะเรียงในยุคแรกที่ทุกคนมักกล่าวกันคือ "มีหัวไว้หลบ มีปีกเอาไว้บิน แข้งเอาไว้ดีด เดือยเอาไว้แทง มีปากไว้กินข้าว ต้องไก่พม่าแม่สะเรียง" จุดเริ่มต้นเกิดจากไก่พม่าแท้ๆ ผสมกับไก่ชนพื้นเมืองของแม่สะเรียงจนมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา มีชั้นเชิงลีลาดี แข้งหน้าถี่ ตีตอจัด ไอคิวดี จึงนิยมเลี้ยงกันมาก โดยเฉพาะพม่าแม่สะเรียงแบบหงอนหมูบ นับจากนั้นมาไก่พม่าก็หลังไหลเขามาในเมืองไทย กวาดแชมป์มากมายหลายสนามในไทยอยู่หลายปี
"มีหัวไว้หลบ มีปีกเอาไว้บิน แข้งเอาไว้ดีด เดือยเอาไว้แทง มีปากไว้กินข้าว ต้องไก่พม่าแม่สะเรียง"
2526 จุดเริ่มต้นของยุค "ไก่ชนเหล่าป่าก๋อย"
มีคำกล่าวไว้ว่าสงครามมักสร้างวีรบุรุษ ไก่ชนเหล่าป่าก๋อยเกิดขึ้นมาในยุคที่ไก่ชนพม่ากำลังครองเมือง เกิดจากการพัฒนาสายพันธ์ของพ่อหลวงสุพจน์ พิจิตร ผู้ใหญ่บ้านป่ารกฟ้า ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซ่าง จังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ 2526 ได้นำไก่ชนเมืองจันทน์ ตัวผู้ เชิงชน มุดมัดล็อค ตีตัว และลอดทะลุหลัง นำมาผสมกับไก่ชนพื้นบ้าน ซึ่งมีลักษณะเด่น กัดไม่เลือกที่ ตีไม่เลือกจุด เมื่อพัฒนาอยู่หลายปีสุดท้ายก็ได้ไก่ชนเหล่าป่าก๋อยตัวเก่ง ออกไปสร้างชื่อเสียงในหลายสนามทางภาคเหนือ เอาชนะไก่ชนพม่ามามากมาย จนได้รับเสียงชมมากมาย ความนิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อครั้งไก่ชนเหล่าป่าก๋อยมาชนแพงในสนามภาคกลาง และเอาชนะไก่ชนพม่าที่จังหวัดนครปฐม เมื่อ ปี พ.ศ. 2543
บทสรุปของ "ไก่ชนพม่า" และ "ไก่ชนเหล่าป่าก๋อย"
จากเมื่อครั้งอดีต จนถึงปัจจุบัน ไก่ชนพม่าและไก่ชนเหล่าป่าก๋อยถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ไม่มีสายพันธ์ไหนที่ผูกขาดความยิ่งใหญ่ หรือเป็นแชมป์ไปตลอดกาล ทั้งสองสายพันธ์ถูกพัฒนาจากนักบรีดเดอร์ที่ชื่นชอบไก่ชนในแบบฉบับของตนเอง เกิดไก่เก่งออกมามากมาย ทั้งสองสายพันธ์ทั้งไก่ชนไทยและไก่ชนพม่าจึงเป็น เหมือนมหากาพย์การต่อสู้ที่ไม่มีตอนจบ แม้ปัจจุบันไก่ชนสายพันธ์ไทยอย่างไก่ชนเหล่าป่าก๋อยจะมีกระแสที่ดีกว่า แต่เชื่อว่าอีกไม่นานไก่พม่าก็คงกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกคราเช่นกัน ตราบไดที่การพัฒนายังไม่รู้จบ.
ข้อมูลภาพ : โชคสันติฟาร์ม