แบบอย่างแนวคิดชีวิตสาวโคราชนักสู้ ผู้ไม่เคยท้อ จากครอบครัวยากจน ทำงานตั้งแต่อายุ 17 ส่งเงินให้พ่อแม่ ส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี มุมานะเก็บเงินซื้อที่ดินราคาเกือบล้าน ทำเกษตรควบคู่งานประจำ และเลี้ยงไก่ชนสร้างรายได้เสริมอย่างต่ำเดือนละ 3 หมื่น
น.ส.คนึงนิจ กุลตัน หรือ นิ ในวัย 35 ปี “เลี้ยงไก่ชน” ควบคู่ "การเกษตร" ทั้งที่ไม่เคยเลี้ยง และไม่มีความรู้ ความสุขกับชีวิตเรียบง่าย นอกจากปลูกผักผลไม้กินเอง เลี้ยงปลาในบ่อแล้ว เธอยัง “เลี้ยงไก่ชน” ควบคู่ทำการเกษตร ทั้งที่ไม่เคยเลี้ยง และไม่มีความรู้ จากแนวคิดซื้อที่ดินแล้วต้องทำประโยชน์ คืนเงินได้เร็ว เพราะปลูกกล้วย ปลูกมะม่วงขายกว่าจะโต กว่าจะได้กำไรต้องรออีกหลายปี
เมื่อใจต้องการเลี้ยงไก่ชน เพราะอาชีพนี้รายได้ดีมาก แต่ไม่มีความรู้ใดๆ เธอบอก สิ่งต้องมีคือความขยันและอดทน เธอจึงขวนขวายสร้างโอกาสให้ตัวเอง โดยเริ่มจากติดตามซุ้มไก่ที่ชื่นชอบ เป็นซุ้มเล็กที่โคราช แต่มักไปตีไก่กับซุ้มใหญ่ชนะมาหลายครั้ง ไปหาลุงบ่อยๆ เพื่อขอความรู้ ตั้งแต่หัดเลี้ยง ออกรอบสนามใหญ่ สนามเล็ก ซื้อพ่อพันธ์ุแม่พันธุ์มาเพาะ
ไม่มีอะไรสำเร็จได้ง่ายๆ ในปีแรกที่เลี้ยงไก่ เธอต้องเจอกับปัญหาต่างๆ มากมาย เพราะเลี้ยงไก่ไม่เป็น ไม่รู้วิธีรักษา ไก่ที่เลี้ยงไว้เกือบ 40 ตัว อายุได้เพียง 2 เดือน ที่ตั้งเป้าจะขายตอนอายุ 4 เดือน ป่วยตาย แต่เธอก็ไม่คิดเลิกล้มความตั้งใจ รีบแก้ปัญหาด้วยการศึกษาจากคลิปอาจารย์ท่านหนึ่งที่ลำพูน สอนวิธีอย่างละเอียด จากนั้นเธอจึงฝึกรักษาจนมีความชำนาญ ไก่ที่เลี้ยงไว้รอดตายสูงถึง 99%
“ตอนนั้นไม่มีหมอรักษาไก่ ไม่มีคลินิกรักษาไก่ชน นิไม่มีความรู้ พอไก่ป่วย นิก็เปิดคลิป ลองผิดลองถูก ไก่ตัวไหนป่วยหนักก็มีโทรปรึกษาอาจารย์หมอไก่ที่ลำพูน ท่านสอนและแนะนำดีมาก นิลองผิดลองถูกมาพักใหญ่ หลังๆ ก็เริ่มชำนาญ นำความรู้มาบอกเพื่อนๆ ในวงการไก่ ยาตัวไหนดี ไม่ฉีดแล้วจะเป็นยังไง”
ครูพักลักจำ ฝึกทำด้วยตัวเอง สีสันวงการไก่ชนมีทุกรสชาติ
เพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ตัวเอง หากซุ้มไก่ที่ชื่นชอบมีการออกชน เธอจะตามไปสนามจริงเพื่อดูการทำน้ำไก่ระหว่างยก เห็นการแก้เกมเมื่อตกเป็นรอง เรียนรู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากพ่อเจ้าของซุ้มไก่ และอาศัยครูพักลักจำ ฝึกทำด้วยตัวเอง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นมือเลี้ยง การเป็นมือน้ำ ออกสนามเอง รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์เอง
สีสันวงการไก่ เธอบอกมีทุกรสชาติ ทุกวันนี้เธอยอมรับยังไม่เก่ง ยังไม่ใช่เซียน แต่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ พร้อมลุยทุกสนาม แม้ผลจะแพ้หรือชนะ นั่นคือเกมกีฬาพื้นบ้านที่มีมานาน และควรอนุรักษ์วิถีชีวิตไก่ชนคู่กับคนไทยต่อไป
“เข้าใจและเสียใจที่บางคนบอกบาป ทรมานสัตว์ แต่ไก่ชนเป็นกีฬาโบราณ ไม่ได้ทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วจู่ๆ นำมาชน ต้องเลี้ยงไก่อย่างดี ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ยาบำรุง เวลาชนก็พันตอหนา สัญชาตญาณไก่ถ้าไม่จับชน ยังไงก็ชนกันอยู่ดี”
"ไก่ชน" พารวย สร้างรายได้เสริมเดือนละ 3 หมื่น
จากความมานะ อดทน และหัวใจที่มุ่งมั่น ลงทุนน้อยหลักพัน และค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีกำไรและบริหารจัดการงบประมาณให้ดี ไม่กี่ปี “จรินทร์ ฟาร์ม ไก่ชน” จึงก่อตั้งขึ้นตามที่เธอใฝ่ฝัน สร้างรายได้เสริมขั้นต่ำเดือนละ 30,000 จากการขายแม่ไก่ตัวละ 2,000 บาท และลูกไก่คู่ละ 2,000 บาท
รวมถึงออกชนไก่ไฟต์เล็กๆ 5-6 รอบต่อเดือน ไฟต์ละ 4,000-10,000 บาท ไก่หนุ่มพร้อมชนไฟต์ละ 5,000-40,000 บาท หากไก่เข้าตาเซียนจะมีการขอซื้อในราคาสูง สำหรับรายจ่ายจะมีค่าอาหาร ค่ายาไก่ ชุดเลี้ยง เดือนละ 6,000 บาท ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ปัจจุบันรายได้เสริมน้อยลงเนื่องจากสนามไก่ชนปิด
“นิไม่ได้ลงทุนมากๆ เพื่อหวังกำไรเยอะๆ ในคราวเดียว แต่นิยึดหลักความพอดี ความสมดุลในชีวิตกับสิ่งที่ทำอยู่ ทำแล้วต้องมีความสุขด้วย ถ้าเกินตัวไปเราจะไม่มีความสุข นิชอบเสียงไก่ขัน ปลุกให้ตื่นตอนเช้า นิมีความสุขกับการเลี้ยงไก่ มีความสุขกับการทำการเกษตร”
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- เลี้ยงไก่ชนเรื่องขี้ๆ ที่ไม่ขี้ๆ ขี้ไก่บอกอะไรได้บ้าง
- 5 ข้อที่คนเลี้ยงไก่ชนต้องรู้จักลงทุน หากอยากประสบความสำเร็จ
- ไก่ชนที่ใช้ชนได้จริงในสนามชนเป็นแบบไหน
6 ประเทศ สนใจ "ไก่ชน" ไทย แนะแนวคิดพ้นวิกฤติโควิด
ไก่ชนจากฟาร์มของเธอไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในไทยเท่านั้น ปัจจุบันมีลูกค้าจาก สปป.ลาว, บราซิล, ตุรกี, พม่า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ติดต่อสอบถามและเริ่มสนใจไก่ชนจากไทยมากขึ้น ทั้งที่เธอไม่เคยคาดหวังว่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่ด้วยพิษโควิดทำให้ชะลอตัว ต้องรอดูอนาคตว่าจะไปในทิศทางไหน หากเศรษฐกิจดีขึ้น ระหว่างนี้เธอก็พูดคุยเรื่องไก่ชนแลกเปลี่ยนความรู้กับลูกค้า โดยใช้กูเกิลแปลภาษา
ยุคโควิด เศรษฐกิจไม่ดี หลายคนต้องตกงาน บางคนอาจมืดมน หาทางออกชีวิตไม่ได้ เธอแนะแนวคิด ดูแลสุขภาพให้ดี จะได้มีแรงสู้ต่อไป ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อย่าเครียดนานเกินไป รีบลุกมาเดินหน้าต่อ ในวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอที่จะได้เปิดใจทำสิ่งใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ ชีวิตมีเรื่องสนุกสนานอีกมากมายรออยู่
“เรียนจากตำราไหนก็ไม่เท่าเรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญใจต้องมาก่อน ต้องถามตัวเองว่าชอบชีวิตแบบไหน หรูหรา หรือเรียบง่าย ถ้าชอบการเกษตรก็ลุยเลย แล้วจะรู้ว่ามีความสุขแค่ไหน มันไม่เหนื่อยเลย เพราะมีผลผลิตให้เก็บกินทุกวัน”
เรื่องราวชีวิตของ “นิ” เป็นคำตอบยืนยัน แม้ต้นทุนชีวิตไม่ดี ไม่ได้แปลว่าจะมีเหมือนคนอื่นไม่ได้ ขอแค่ตั้งใจ และไม่ลืมบุญคุณของพ่อแม่แล้วสักวันชีวิตต้องได้ดีแน่นอน เช่นเธอนั้นส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละสามพันมาตั้งแต่อายุ 17 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และลงทุนให้ทำนาทุกปี.