ไก่ชนออนไลน์
6 ตุลาคม 2567

แจ็ค หม่า v อีลอน มักส์: สรุปข้อถกเถียง “มนุษยชาติและอนาคตจะอยู่รอดได้ หากเราไม่ปิดตนเอง”


แชร์



ที่งานประชุมวิชาการด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก (WAIC: World Artificial Intelligence Conference) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน มีการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและข้อถกเถียงที่สำคัญทางด้านมนุษยชาติและอนาคตภายใต้อิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่าง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน และ อีลอน มักส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์เทสล่า, บริษัทส่งจรวด สเปซ เอ็กซ์, และบริษัทล่าสุด นูรัลลิงก์ ที่เชื่อมระหว่างสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ทั้งสองเริ่มต้นด้วยจุดยืนระหว่างปัญญาประดิษฐ์ (หรือ เอไอ) กับมนุษยชาติ โดย หม่า มองว่า เอไอจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวช่วยของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เราเข้าใจในตัวเองมากขึ้น และเราสามารถมีเวลาในการสร้างสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์ ขณะที่มักส์กลับมองว่า การพัฒนาเอไอในปัจจุบันนั้นก้าวไกลไปมากแล้ว การพัฒนาแบบไม่มีการควบคุมย่อมหมายถึงว่า วันหนึ่ง มันอาจจะมีความสามารถมากเกินมนุษย์ หนทางในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเอไอคือการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เป็นเสมือนส่วนผสมระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ที่เรียกกันว่า “ไซบอร์ก”

จากนั้น บทสนทนาพุ่งประเด็นไปที่เรื่องของการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารและความจำเป็น ซึ่งมักส์มองว่าจำเป็นที่มนุษย์จะต้องปรับตัวให้ไปอยู่ดาวอื่นๆ ได้ เพราะในเวลานี้โลกเผชิญหน้าปัญหามากมาย และเรามีเวลาแก้ไขปัญหาที่น้อยลงกว่าเดิม ทางออกจึงเป็นการทำให้มนุษย์สามารถไปอยู่ที่ดาวดวงอื่นได้ ซึ่งใช้ทรัพยากรในแต่ละปีไม่มาก แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า ขณะที่ หม่า มองว่า การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากที่เราตระหนักว่า เรามีโลกใบนี้ใบเดียว และการแก้ไขปัญหาคือการทำให้อนาคตในทุกๆ วันของเราดีกว่า เทคโนโลยีและพัฒนาการทางวิทยาการอย่างเช่นที่มัสก์กำลังทำอยู่ เป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องไม่ลืมว่าเรายังอยู่บนโลกใบนี้ และหน้าที่คือการทำให้มนุษย์อยู่บนโลกได้อย่างยาวนานที่สุด

ความกลัวว่าเอไอจะเข้ามาแทนที่มนุษยชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เรื่องนี้ หม่า มองว่า เอไอจะทำให้มนุษยชาติมีเวลาว่างมากขึ้นในการพัฒนาตัวเอง รวมถึงใช้ชีวิตให้มีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันงานต่างๆ จะถูกแปรเปลี่ยนรูปแบบไป ความกลัวว่างานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรเคยเกิดขึ้นมาแล้วในทุกยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่สำคัญ แล้วจะเห็นได้ว่าก็มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมารองรับมากมาย ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าเอไอจะทำให้อาชีพหายไป แต่ในทางกลับกัน มัสก์มองว่า เอไอจะเข้าไปมีบทบาทอย่างมากและแทนที่มนุษย์ในท้ายที่สุด ยกเว้นในส่วนของวิศกรรม ที่ต้องใช้ในการควบคุมดูแลระบบ ศิลปะ และศาสตร์หรืออาชีพที่ต้องใช้การติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จะเป็นเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะไม่ถูกแทนที่ด้วยเอไอ และจะกลายเป็นอาชีพใหม่ที่แทนที่ในอนาคตด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้ในอนาคตและการศึกษาจะเป็นอย่างไร? หม่า มองว่าความรู้และการศึกษาในปัจจุบันคือการตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมมากกว่าการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีและสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นในอนาคตเขาจึงมองว่า ความสำคัญคือเรื่องของการสร้างสิ่งใหม่ๆ ผสานเข้ากับการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดต่างๆ ของระบบเอไอ เพื่อเข้าไปแก้ไขตลอดเวลา ส่วนมักส์มองว่า อนาคตคือเรื่องของการพยายามที่จะทำนายอนาคตที่เกิดขึ้นให้ได้แม่นยำที่สุด โดยมีข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด จึงควรเรียนทุกอย่างที่จำเป็น และทำให้มนุษย์สามารถคำนวณสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

อีลอน มักส์ ผู้ก่อตั้ง Tesla ในงาน World Artificial Intelligence Conference (WAIC) ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน วันที่ 29 สิงหาคม 2562

สำหรับศักยภาพของเอไอนั้น มักส์มองว่า คอมพิวเตอร์สามารถเอาชนะมนุษย์ได้แล้ว เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ หรือในฝั่งของอุปกรณ์ที่เล็กลงเรื่อยๆ และซอฟต์แวร์ หรือในฝั่งของโปรแกรมที่ใช้ ตัวอย่างเช่นการเล่นหมากล้อมหรือหมากรุกที่คอมพิวเตอร์เอาชนะคนไปแล้ว แต่หม่า กลับมองว่ามนุษย์ยังฉลาดกว่า เพราะมนุษย์มีไหวพริบ คอมพิวเตอร์เป็นเพียงไฟฟ้าและชิปเท่านั้น มนุษย์เราซับซ้อนกว่านั้นมาก คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถเอาชนะมนุษย์ในบางมิติได้ เช่น ความรู้สึก ดังนั้นมิติที่มนุษย์แพ้ให้กับคอมพิวเตอร์นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้เอง การทดลองเช่น การเล่นหมากล้อมหรือหมากรุก ด้วยคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการทดลองที่ผิดที่ผิดทาง เพราะธรรมชาติของเกมเหล่านี้มีไว้สำหรับมนุษย์ในการประลองความสามารถ รวมถึงเรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนด้วย

ประเด็นเหล่านี้นำพาไปสู่ว่า ที่สุดแล้วทั้งสองคนมองว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับอนาคตคือประชากรที่จะหายไปจากโลกอย่างรวดเร็ว เพราะอัตราการเกิดไม่สมดุลกับอัตราการตาย โดยหม่ามองว่า อัตราการเกิดที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงอายุของมนุษย์ที่จะเห็นความสำคัญ และมักส์ก็มองเช่นนั้น แต่เขามองว่าปรากฎการณ์นี้จะรุนแรงในลักษณะเป็นอัตราเร่ง (accelerated) มากกว่าค่อยเป็นค่อยไป

ในมุมกลับ การตายของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายเช่นกัน มัสก์มองว่าเมื่อเราเชื่อมระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคืออายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น เพราะมนุษย์สามารถย้ายและถ่ายความทรงจำต่างๆ ลงไปยังคอมพิวเตอร์ได้ และสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ขณะที่หม่ามองว่า อายุของมนุษย์จะนานขึ้นกว่าเดิม อาจถึง 120 ปี และเอไอจะเข้ามาช่วยทำให้สุขภาพของมนุษย์ดีขึ้น แม้เราจะไม่พ้นจากความตายก็ตาม

การพัฒนาเหล่านี้สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? หม่ามองว่า เอไอ จะทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม และทำให้เรามีเวลาที่จะไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่มัสก์กลับมองว่า มนุษย์เองสามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าบทบาทของเอไอจะมีส่วนอย่างไรบ้าง

ทั้งสองคนปิดท้ายได้แตกต่างกันพอสมควร โดยมักส์ระบุว่า มนุษย์จะต้องสู้เพื่อให้จิตสำนึกรู้ในความเป็นมนุษย์ของเรายังคงดำรงอยู่ ขณะที่หม่ามองว่า มนุษย์มีหน้าที่ในการรับผิดชอบปัจจุบัน และทำให้ปัจจุบันดีที่สุด เรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ โดยที่ไม่ไปปิดหรือละทิ้งการหาหนทางหรือทางออกในอนาคตเพื่อมนุษยชาติด้วย

สิ่งที่เราพอจะเห็นได้จากการถกเถียงในครั้งนี้ คือการที่ทั้งสองคนนั้นต่างมุ่งประโยชน์ของมนุษย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขปัญหาของหม่า สะท้อนถึงวิธีคิดที่เริ่มต้นจากการแก้ไขตัวเองและสิ่งเล็กๆ ซึ่งสะท้อนถึงหลักคิดของเต๋าและขงจื่อได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่มักส์ กลับมีวิธีคิดที่แตกต่างออกไป ด้วยการแก้ไขปัญหาในแบบตะวันตกที่ต้องการรักษาความจริงและจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ดำรงคงอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม

แม้ตอนนี้เราจะไม่รู้ว่า ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต รวมถึงสิ่งที่ทั้งสองคนคาดการณ์ไว้จะออกมารูปแบบไหน แต่ก็พอสะท้อนถึงทิศทางในการแก้ไขปัญหาบนโลกนี้ที่แตกต่างกันระหว่างสองบุคคลที่มีอิทธิพลในวงการเทคโนโลยีในช่วงทศวรรษหลังนี้ได้เป็นอย่างดี


Tag :

แจ็คหม่า, อีลอน มัสก์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

รับข่าวสารเพิ่มเติม