ไก่ชนออนไลน์
12 กันยายน 2567

สำรวจห้องเรียน ครอบครัว และวัฒนธรรมสวีเดน ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของ เกรต้า ธันเบิร์ก


แชร์



ฉันยังเด็กเกินไปที่จะโหวต กฎหมายสวีเดนก็บังคับให้ฉันต้องไปโรงเรียน ดังนั้นฉันจึงทำให้เสียงของฉันเป็นที่ได้ยินและเป็นที่สนใจของสื่อต่อเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก” – เกรต้า ธันเบิร์ก กล่าวกับเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงแรกๆ ของการเริ่มประท้วง

[“I’m too young to vote. But Swedish law requires that I go to school. So I do this to make my voice heard and attract media attention to the climate crisis,” she says.]

เกรต้า เด็กหญิงชาวสวีเดน วัย 16 ปี สนใจศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 11 ขวบ จนตัดสินใจเลิกนั่งเครื่องบินและกินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในตอนแรกเกรต้าตั้งใจจะโดดเรียนไปประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนทุกวันศุกร์จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2018 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของสวีเดน เพื่อแสดงออกว่ารัฐบาลสวีดิชมีท่าทีเฉื่อยชาต่อปัญหานี้ และต้องการให้คนสวีเดนพูดถึงวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันมากขึ้น เธอไม่พอใจที่สวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับ 8 ของโลก เอาแต่บอกว่าจะช่วยประเทศอื่นลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว แต่กลับไม่มีการปรับปรุงเรื่องนี้ในประเทศตัวเอง แต่ต่อมาการประท้วงของเธอกลับกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก 

ก่อนการเริ่มนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดน เกรต้าเคยชนะการประกวดเรียงความเรื่อง “ทำไมเราจึงต้องหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเดี๋ยวนี้” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์รายวันภาษาสวีดิช “สเวนสก้า ดอกบลาเดท” (Svenska Dagbladet) หลังการชนะเรียงความ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้ติดต่อเกรต้าเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับไอเดียเรื่องการประท้วงในโรงเรียน เช่น การประท้วงในสนามเด็กเล่นของโรงเรียน จริงๆ แล้ว เกรต้าต้องการให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนของเธอเข้าร่วมด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจ เธอจึงเริ่มต้นประท้วงคนเดียว 

เกรต้า ธันเบิร์ก ขณะพูดที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายน 2562

ชั้นเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนสวีเดนคือจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องโลกร้อน

โรงเรียนในสวีเดนมีการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนเกรต้าอายุ 8 ขวบ คุณครูของเธอนำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับขยะพลาสติกในมหาสมุทรและวิกฤติหมีขั้วโลกมาให้นักเรียนดู และสอนว่าเราจำเป็นต้องลดการใช้พลังงานและรีไซเคิลขยะเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งเรียนเธอก็ยิ่งคิดได้ว่าถ้าเรื่องนี่เป็นเรื่องจริงจัง ทำไมเราไม่พูดเรื่องนี้และพยายามแก้ปัญหามันตลอดเวลา

สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสวีเดน การเรียนการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับชาติในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนไม่เพียงแต่สอนให้เด็กๆ เข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวคืออะไร มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่สอนเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถกเถียงโดยใช้มุมมองของธรรมชาติและมนุษย์ และพูดคุยถึงความสลับซับซ้อนของปัญหาดังกล่าว เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนอันเนื่องมาจากภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้มีส่วนหล่อหลอมให้เกรต้าเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อมวลมนุษยชาติ

คนในครอบครัวไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมของเกรต้า แต่เกรต้าเปลี่ยนพฤติกรรมคนในครอบครัว

เกรต้าเกิดในครอบครัวนักดนตรีและนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากในสวีเดน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคขวาจัดและคนที่ไม่เห็นด้วยกับเธอหยิบมาโจมตีว่าการประท้วงของเกรต้าเกิดจากการปลูกฝังของพ่อแม่ของเธอ และเธอมีต้นทุนทางสังคมที่สูงมากจนทำให้เสียงของเธอดังกว่าการประท้วงของเด็กคนอื่นๆ ทั้งนี้ ครอบครัวของเกรต้าต่างก็เป็นผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลของสวีเดน มาเรียนา เอิร์นแมน (Malena Ernman) แม่ของเกรต้าเป็นนักร้องโอเปราที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามทวิตเตอร์ถึงกว่า 45,000 ราย สวานเต้ ธันเบิร์ก (Svante Thunberg) พ่อของเธอเป็นนักเขียนและนักแสดงละครทีวี ส่วนเบียต้า เอิร์นแมน (Beata Ernman) น้องสาวของเธอก็เจริญรอยตามแม่โดยเข้าแข่งประกวดร้องเพลงและมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมถึงกว่า 13,000 คน แต่เบียต้าก็ไม่เคยโพสต์อะไรเกี่ยวกับพี่สาวของเธอเลย

ความจริงแล้ว ในช่วงแรกของการประท้วง พ่อและแม่ของเกรต้ากลัวว่าการเป็นแอสเพอร์เกอร์ (Asperger) และมองทุกอย่างเป็นขาวและดำของลูกตนเองนั้นจะทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าไม่มองโลกตามความเป็นจริง แม่ของเกรต้าเคยทวีตว่า “เธอเข้าใจถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็สนับสนุนให้ลูกของเธอไปโรงเรียน และแคมเปญของเกรต้าก็เป็นการริเริ่มของเกรต้าเอง” ส่วนพ่อของเธอก็รีทวีตข้อความของลูกสาวอยู่เรื่อยๆ และแอบ fact-check สิ่งที่ลูกสาวทวีต ซึ่งพบว่ามันก็ถูกทั้งหมด สวานเต้เคยให้สัมภาษณ์กับไฟแนลเชียล ไทมส์ ว่า ในตอนแรกก็กังวลเนื่องจากคนวิจารณ์ว่าทำไมไม่ประท้วงในวันหยุดจะได้ไม่รบกวนเวลาเรียนหนังสือ แต่เขาก็ยืนยันว่าเกรต้าเป็นเด็กเรียนเก่งและแม้ว่าจะโดดเรียนมาประท้วงแต่เธอก็อ่านหนังสือเพิ่มตลอดช่วงที่เธอหายไปจากห้องเรียน

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในครอบครัวเริ่มมาจากช่วงที่เกรต้าอายุได้ 11 ขวบ เธอเกิดอาการซึมเศร้าและหวาดกลัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลกจนทำให้เธอน้ำหนักลดและไม่ยอมกินอาหาร พ่อแม่ของเธอยอมหันมาพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังกับเธอ กิจกรรมหลักในครอบครัวคือการดูภาพยนตร์ สารคดี อ่านรายงาน บทความ และถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกรต้าเคยบอกกับพ่อแม่ของเธอเสมอว่า “พวกเขากำลังขโมยอนาคตของเธอ และพวกเขาไม่สามารถต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ได้ ถ้าหากยังคงมีไลฟ์สไตล์แบบไม่แคร์โลกเช่นนี้”

หลังจากนั้นพ่อแม่ของเกรต้าเริ่มฟังสิ่งที่เธอพูดและเชื่อว่าเธอสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จนสุดท้ายครอบครัวของเธอก็ตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม่ของเธอก็เลิกเดินทางโดยเครื่องบิน เลิกรับงานคอนเสิร์ตในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ตามที่เกรต้าขอร้อง แต่เธอก็เรียกตัวเองว่าเป็นมังสวิรัติ ส่วนพ่อของเธอได้กลายมาเป็นวีแกนเต็มตัว 

เกรต้าขณะกล่าวสุนทรพจน์ How Dare You

ความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงนำไปสู่การมีส่วนร่วมของพลเมืองเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้เกรต้าให้สัมภาษณ์ในรายการ “เดอะ เดลี่ โชว์” (The Daily Show) ว่า “ในสวีเดน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อเท็จจริง แต่ในสหรัฐอเมริกาเรื่องนี้ยังคงเป็นเพียงความคิดเห็น” หากดูบริบทของสังคมสวีเดนแล้วจะพบว่าชาวสวีเดนเป็นพลเมืองลำดับต้นๆ ของยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลสำรวจของคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่า 40% ของชาวสวีเดนบริโภคสินค้าและบริการที่แปะป้ายว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งการตระหนักเรื่องการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งในรูปแบบของกระป๋องอลูมิเนียมและขวดพลาสติก

นอกจากนี้ วัฒนธรรมสวีดิชหลายอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้ามือสอง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเทรนด์ของชาวสวีเดนไปแล้ว หากใครไปสวีเดนจะพบร้านขายสินค้ามือสองอย่าง มีรอนา (Myrorna) ร้านขายของมือสองที่มีอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ของสวีเดน หรือวัฒนธรรม “เดธ คลีนนิ่ง” (Death Cleaning)  ซึ่งเป็นการกำจัดข้าวของของเราให้เหลือน้อยที่สุดก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป ทำให้เรากลับมาทบทวนว่าข้าวของต่างๆ ที่เราซื้อมานั้นจำเป็นต่อชีวิตเราอย่างไร และเกิดการคิดก่อนจะซื้อ

ล่าสุด ชาวสวีเดนมีคำศัพท์ใหม่อย่าง “ฟลีกสแกม” (flygskam) คือการละอายใจที่ต้องใช้เครื่องบินเนื่องจากมันผลิตคาร์บอนไดออกไซต์มากกว่าการเดินทางแบบอื่น ผลสำรวจของบริษัท SJ ผู้ให้บริการรถไฟของสวีเดนพบว่า ในช่วงระยะปีครึ่งที่ผ่านมาชาวสวีเดนเลือกเดินทางโดยรถไฟมากขึ้นจาก 20% เป็น 37% สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดที่รายงานว่า ผู้โดยสารชาวสวีเดนใช้บริการสนามบินในสวีเดนน้อยลง โดยไฟลท์ภายในประเทศลดลง 8% และไฟลท์ระหว่างประเทศลดลง 4%

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนแล้ว สวีเดนยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2011 รัฐบาลสวีเดนออกยุทธศาสตร์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายคือการส่งออกเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง และการทำให้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ ข้อมูลจากสภาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งสวีเดน (Swedish Environmental Technology Council) ระบุว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสร้างรายได้ให้รัฐสูงถึง 400 ล้านสวีดิชโครน หรือราว 1200 ล้านบาท ในปี 2014 จากที่รัฐลงทุนไปเพียง 100 ล้านสวีดิชโครน ในปี 2011 ตอนนี้สวีเดนกลายเป็นประเทศที่ขายเทคโนโลยีและให้ทุนทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกหากชาวสวีเดนจำนวนมากออกมาสนับสนุนการกระทำของเกรต้า ธันเบิร์ก หลังจากที่เกรต้าเริ่มประท้วงได้ไม่นานนัก พ่อของเกรต้าเคยกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่ลูกของเขาสร้างว่า ผู้คนตระหนักเรื่องโลกร้อนกันมากแล้ว แต่เริ่มเหนื่อยล้าในการพูดเรื่องนี้ ลูกสาวของตนเพียงแค่คนหยิบข้อความนั้นมาพูดอีกครั้งหนึ่งในจังหวะเวลาที่เหมาะสม 

บทความโดย เกตน์สิรี ทศพลไพศาล สำเร็จการศึกษาปริญญาโท School of Global Studies จาก University of Gothenburg ประเทศสวีเดน

 


Tag :

Gothenburg, ประเทศสวีเดน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

รับข่าวสารเพิ่มเติม